วีรกรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ในปลายรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ญวนชิงเมืองกัมพูชาไปจากไทย
ครั้นปีพุทธศักราช ๒๓๗๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขุนนางญวนที่ปกครองเมืองไซ่ง่อนของญวนเกิดกบฏต่อประเทศญวน และขอความช่วยเหลือจากไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นโอกาสที่จะชิงกัมพูชาคืนจากญวน
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังกองทัพบก
และให้เจ้าพระยาพระคลังหน (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อน
กองทัพไทยไม่สามารถสู้รบกับกองทัพญวนที่มีกำลังเหนือกว่ามาก จึงจำต้องถอยทัพกลับ
เจ้าพระยาบดินทรเดชา วางกลยุทธ์ในการถอยทัพให้ปลอดภัยจากกองทัพญวนหลายรูปแบบ
เป็นผลให้กองทัพญวนที่ไล่ติดตามมาได้รับความเสียหายยับเยิน ไม่สามารถทำลายกองทัพไทยได้
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดกองทัพที่พระตะบองออกขับไล่ญวนที่เมืองโพธิสัตว์
พนมเปญ และกำปอด รุกไล่กองทัพญวนทั้งสามเมืองแตกพ่ายยับเยิน แม่ทัพญวนยอมแพ้
ทำพิธีมอบธงชัยประจำกองทัพของญวนให้แก่กองทัพไทย ณ เมืองโพธิสัตว์
หลังจากนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชายังสู้รบกับญวนอีกหลายครั้ง เป็นเวลานานถึงปีพุทธศักราช
๒๓๙๐ ญวนจึงยอมคืนเขมรให้เป็นเมืองขึ้นของไทยตามเดิม การรบระหว่างไทยกับญวนในสงครามชิงเมืองเขมรใช้เวลาประมาณ
๑๔ ปี วีรกรรมครั้งนี้ เป็นผลให้ยุติสงครามญวนและไทย และ ได้เมืองเขมรกลับคืนมาตามเดิม |